เกี่ยวกับเรา


ประวัติความเป็นมาของ
UHOSNET
     ในคราวประชุมคณะกรรมการอำนวยการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4/2542 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2542 ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ในการประชุมครั้งนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิรุฬห์ เหล่าภัทรเกษม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เสนอแนวคิดในการจัดหาเครื่องมือและมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือในการบริหารจัดการโรงพยาบาลของสมาชิกสถาบัน บนความไม่พร้อมของระบบบริหารจัดการโรงพยาบาล เพื่อตอบรับการจัดระบบบริการผู้ป่วยยากไร้ของรัฐบาล (สปร.) โดยเฉพาะในภาวะที่จะมีการปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิรุฬห์ เหล่าภัทรเกษม เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ประกอบด้วยผู้แทนจากสถาบันสมาชิกคณะละ 2 คน ซึ่งคณะทำงานได้สรุปให้จัดตั้งเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (University Hospital Network หรือ UHOSNET) และได้จัดประชุม UHOSNET ขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2543 ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  คณะกรรมการของเครือข่ายฯ ในครั้งแรก มีเลขาธิการกลุ่มสถาบันฯ เป็นประธาน ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิรุฬห์ เหล่าภัทรเกษม เป็นรองประธาน และผู้อำนวยการโรงพยาบาลของสถาบันสมาชิกทุกแห่ง เป็นกรรมการ กำหนดให้มีการประชุมในส่วนภูมิภาคปีละ 4 ครั้งเป็นอย่างน้อย เป็นลักษณะของกลุ่มเฉพาะกิจของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ระยะต่อมาได้ขยายวงออกไป รวมโรงพยาบาลสมทบในสังกัดอื่นด้วย และขอให้รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุธรรม ปิ่นเจริญ เป็นผู้ประสานงานกลาง และทำหน้าที่หัวหน้าทีมบริหารจัดการเรื่อยมา

ในการจัดประชุมเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ในอดีตที่ผ่านมา มีการหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละสถาบันที่ร่วมจัดตั้ง โดยระยะแรกเป็นความสมัครใจและความพร้อมของแต่ละสถาบัน แต่มีลักษณะหมุนเวียนให้สถาบันที่อยู่ในกรุงเทพฯเป็นเจ้าภาพสองครั้งหรือสองสถาบัน  สลับกับสถาบันในภูมิภาคเป็นเจ้าภาพหนึ่งครั้งหรือหนึ่งสถาบัน โดยมีระยะเวลาประมาณห่างกันประมาณ ๓ เดือน สถานที่และเนื้อหาในวาระการประชุม จะขึ้นกับสถาบันที่เป็นเจ้าภาพ ระยะเวลาอยู่ในช่วงหนึ่งวันครึ่ง ซึ่งในช่วงปี ๒๕๔๔ เป็นต้นมาเป็นช่วงของการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศ ช่วงของการเปลี่ยนแปลงการเป็นสถาบันภายใต้การกำกับของรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อโรงพยาบาลที่สังกัดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการเงินการคลัง และการจัดบริการสุขภาพ เนื้อหาจึงเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนการจัดบริการโรงพยาบาล เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง การต่อรองกับกองทุนสุขภาพต่างๆ ในช่วงงานกลางคืนของการประชุมวันแรก จะเป็นกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ของสมาชิกแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น มีการรวมตัวกันของทีมคณะทำงานในเรื่องต่างๆ ตามประเด็นที่เกิดขึ้นขณะนั้นๆ ผู้ร่วมประชุมจะมีสมาชิกหลักจากสาขาแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทั้งจากสถาบันหลักและสถาบันสมทบ จนพัฒนาเป็นเครือข่ายคณะทำงานกลุ่มพยาบาล คณะทำงานกลุ่มเภสัชกร ภายใต้คณะอนุกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย

วัตถุประสงค์การทำงานของ UHOSNET

  1. เพื่อเครือข่ายความสัมพันธ์ทัง้ระดับบุคคลและระดับองค์กรให้เกิด ความคุ้นเคยไว้วางใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี
  2. เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแก้ไขปัญหาและการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ
  3. เพื่อร่วมกันติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงจากภายนอกที่รวดเร็วพร้อมทั้งศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น และร่วมกันหาวิธีการแก้ไข
  4. เพื่อร่วมกันทำงานประสานกับภาครัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม  กรมบัญชีกลาง ตลอดถึงองค์กรอิสระอื่นๆ
  5. เพื่อพัฒนางานด้านคุณภาพของบริการโรงพยาบาลร่วมกัน เช่น โครงการพัฒนาตัวชี้วัดคุณภาพโรงพยาบาลระดับประเทศ (Thailand Hospital Indicator Project, THIP), ระบบประกันคุณภาพและตรวจสอบคุณภาพยา(Pharmaceutical Quality Assurance ) ,การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (Rational Drug Used, RDU),Hospital Accreditation to Advanced HA ,JCI,รวมถึงการบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น

กลไกการทำงาน

ในอดีตเมื่อแรกก่อตั้ง เป็นการทำงานร่วมกันแบบสมัครใจ ไม่มีกฎระเบียบชัดเจน เพียงแค่มีกำหนดกติกาการจัดประชุม และทำจนเป็นประเพณีที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมา  ไม่ได้มีงบประมาณกลาง  หรือสำนักงานของกลุ่ม  อาศัยการจัดประชุมที่ผลัดกันเป็นเจ้าภาพ  สถาบันสมาชิกเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายใน การส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมแต่ละครั้ง  โดยมีรศ.นพ. สุธรรม  ปิ่นเจริญ  รองเลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย(กสพท.) ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานหลักของ UHOSNET